วางแผนภาษีธุรกิจ

ประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ได้ทั้งใจสรรพากร ได้ทั้งเงินคืน


round

แสงแข พันธ์พิกุล

FChFP

“การวางแผนภาษี”

คือการวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เราเสียภาษีน้อยที่สุด โดยที่เรายังทำตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประการ

เพราะการจ่ายภาษีของธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล มีลักษณะต่างกัน ดังนั้น จึงมีเทคนิคการวางแผนภาษีที่ต่างกัน

บุคคลธรรมดา

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนภาษี = เงินได้สุทธิ

ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

นิติบุคคล

รายรับ - ค่าใช้จ่าย = กำไร (ก่อนปรับปรุง)

ภาษีที่ต้องจ่าย = กำไร (หลังปรับปรุง) x อัตราภาษี

  • การวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา
  • การวางแผนภาษีสำหรับนิติบุคคล
การวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา

การวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา

หลักการสำคัญเริ่มตั้งแต่การบริหารประเภทเงินได้ เพราะจะเป็นต้นทางของรายรับ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 ประเภท ตามมาตรา 40 (1-8) ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักจะมีอาชีพเสริม ไม่ได้รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจประเภทรายรับอื่นๆ เพื่อทราบการหักค่าใช้จ่ายก่อนที่นำไปหักค่าลดหย่อนต่อไป


8 เงินได้พึงประเมินบุคคลธรรมดา


หลังจากเราเอาเงินได้ทั้งหมดของเรามาหักค่าใช้จ่ายเสร็จแล้ว จะทำยังไงให้ได้ค่าลดหย่อนมากที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือสิทธิในการใช้ค่าลดหย่อนหมวดหมู่ต่างๆ โดยค่าลดหย่อนแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ


กลุ่มที่ 1 : ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว


เป็นค่าลดหย่อนส่วนตัว และค่าลดหย่อนเกี่ยวกับคนในครอบครัวที่ไม่มีรายได้


กลุ่มที่ 2 : ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออมและการลงทุน


เป็นกลุ่มที่เราต้องวางแผนมากที่สุด เพราะเราจะใช้สิทธิ์นี้ไม่ได้เลยถ้าเราไม่เอาเงินไปซื้อประกันหรือเอาไปลงทุนในกองทุนต่างๆ การลดหย่อนกลุ่มนี้ต้องใช้ความรู้ทางการเงินและการลงทุน ได้แก่

  • การลงทุนใน LTF SSF หรือประกันออมทรัพย์ เป็นการลงทุนและออมเงินระยะกลางถึงยาว (5-10 ปี) เพื่อเป้าหมายทางการเงินต่างๆ เช่น การแต่งงาน ซื้อบ้าน รถ หรือการศึกษาลูก
  • กองทุนรวม RMF หรือประกันบำนาญ เป็นการลงทุนระยะยาวถึงอายุ 55-65 ปี เพื่อเป้าหมายเกษียณ 
  • การลงทุนในประกันชีวิต หรือสุขภาพ เป็นการวางแผนความเสี่ยง คุ้มครองรายได้และครอบครัว

ดังนั้น เราต้องวางแผนดีๆ ว่าจะลงทุนหรือออมเงินตรงส่วนนี้เพื่อเป้าหมายอะไร มากกว่าแค่ได้สิทธิ์ลดหย่อนทางภาษี

ในปี 2563 มีการปรับเปลี่ยนการลดหย่อนในส่วนของการออม และการลงทุน ดังนี้

1) ยกเลิกสิทธิ์การลดหย่อนภาษีจากกองทุน LTF

  • เปลี่ยนเป็นกองทุน SSF (Super Saving Funds) คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว
  • สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงตราสารหนี้และกองทุนรวม ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า LTF ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศ
  • นำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท
  • ไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อ และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง
  • เงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนเพิ่มเป็น 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ต่างจาก LTF เดิมคือ 7 ปี
  • ในเบื้องต้นให้ประโยชน์ลดหย่อนภาษีเพียง 5 ปี (2563 - 2567)

2) ออกกองทุน SSF Extra (Super Saving Fund Extra) เพื่อกระตุ้นการออมเนื่องจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งมีเงื่อนไขคือ

  • สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี
  • สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 200,000 บาท (เพิ่มจาก SSF ปกติ และไม่ต้องมารวมกับกองทุนลดหย่อนประเภทอื่นๆ)
  • มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 65% (กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65%)
  • ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ

3) กองทุนรวม RMF

  • มีการปรับสัดส่วนในการลดหย่อนภาษีเพิ่ม จากเดิมที่ 15% เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท และนับรวมกองทุนอื่นๆ ในวงเงินด้วย เช่น (กองทุน SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ)
  • ยกเลิกกำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการลงทุนจากเดิม 5,000 บาท เป็นเท่าไรก็ได้ โดยไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

กลุ่มที่ 3 : ค่าลดหย่อนอสังหาริมทรัพย์


เป็นค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย และโครงการซื้อบ้านหลังแรก ช่วงปี พ.ศ. 2558 และ 2562


กลุ่มที่ 4 : ค่าลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาค


เราควรไปตรวจสอบก่อนว่าองค์กรที่เราจะบริจาคเงินนั้น สามารถนำเงินบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้หรือไม่? ถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรจัดการให้ข้อมูลการบริจาคสามารถส่งตรงถึงกรมสรรพากร สำหรับการลดหย่อนภาษี และให้ใบเสร็จ หรือใบอนุโมทนาบัตรส่งให้เราทางอีเมล์เพื่อความสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ที่

  • http://www.rd.go.th/publish/28654.0.html (สำหรับการศึกษา)
  • http://download.rd.go.th/fileadmin/download/sportsociety_241256.pdf (สำหรับการกีฬา
  • http://www.rd.go.th/publish/29157.0.html (สำหรับเงินบริจาคทั่วไป)

กรณีการบริจาคให้แก่สถานศึกษา จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบ e – Donation เท่านั้น ถึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้


กลุ่มที่ 5 : ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


เป็นการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติ แต่เป็นไปตามนโยบายระยะสั้นของรัฐบาล เช่น การลดหย่อนช่วยน้ำท่วม การลดหย่อนค่าบ้าน ค่ารถ การลดหย่อนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งจะมีรายละเอียดมาก และเราต้องตามรายละเอียดไปแบบปีต่อปี


ใครต้องยื่นภาษีบ้าง


บุคคลที่มีรายได้ทุกคน ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งแม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องยื่นแบบภาษีประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. เพื่อแสดงรายได้สะสมในช่วงปีที่ผ่านมา

ถ้าอยากรู้ว่าเราจะต้องเสียภาษีเท่าไร ให้คำนวณรายได้สุทธิของตัวเองก่อนจากสูตร เมื่อได้จำนวนเงินได้สุทธิแล้วจึงมาเทียบดูอัตราภาษีที่ต้องเสียตามขั้นบันได ตั้งแต่ 5-35% ตามตารางด้านล่าง


ยื่นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ?


กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นภาษีได้หลายช่องทาง ได้แก่

  • ยื่นแบบแสดงภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม– 31 มีนาคม 2563
  • ยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/ ได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
  • ยื่นผ่านแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax แต่ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน

สรุป

การวางแผนภาษีบุคคลธรรมดาเป็นการใช้สิทธิ์ตามนโยบายสนับสนุนการออมและการวางแผนการเงินส่วนบุคคลของภาครัฐ จึงไม่ใช่แค่การหาช่องทางออมเงินเพื่อให้ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการวางแผนการใช้จ่ายเงินของเราให้เกิดประโยชน์ทางภาษีสูงสุด และต้องตรงตามเป้าหมายทางการเงินที่เราต้องการ เพื่อให้เงินที่ออมในแต่ละปีทำงานให้เราทั้งแผนภาษี และแผนการเงินด้านอื่นควบคู่กัน เช่น วางแผนลงทุนใน RMF หรือออมประกันบำนาญเพื่อเป้าหมายเกษียณในอนาคต หรือ วางแผนซื้อบ้าน เพื่อใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้ และปล่อยเช่าบ้านให้มีรายรับประจำอีกทาง เป็นต้น

สำคัญที่สุด คือ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการติดตาม ทบทวน และประเมินผลอยู่เสมอ เพื่อให้เงินออมของเรางอกเงย สร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง การออมควรเป็นไปอย่างมีวินัยและถูกต้องตามหลักของสรรพากร ไม่เช่นนั้น การประหยัดภาษีอาจจะไม่คุ้มค่ากับการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง

การวางแผนภาษีสำหรับนิติบุคคล

การวางแผนภาษีสำหรับนิติบุคคล

สำหรับนิติบุคคล สิ่งที่สามารถลดภาษีได้ คือ “ค่าใช้จ่าย” โจทย์สำหรับนิติบุคคล คือ เราจะลงบันทึกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของบริษัทลงไปในบัญชีให้ได้มากที่สุดตามที่กฎหมายเอื้ออำนวย เพราะนั่นหมายถึง “ผลกำไร” ก็จะลดลงหลังที่ถูกนำไปคิดภาษี


ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการวางแผนภาษีนิติบุคคลที่กรรมการและฝ่ายบัญชีควรนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนภาษีนิติบุคคลในอนาคต มีดังนี้


ประเด็นที่ 1 : จะซื้อหรือเช่าดี?


การซื้อหรือเช่า เป็นปัญหาคลาสสิคทางภาษีของนิติบุคคล เช่น ถ้าทางบริษัทก็ต้องการรถยนต์มาใช้งาน บริษัทควรพิจารณาว่าการซื้อในนามของบริษัท หรือการทำสัญญาเช่า วิธีไหนจะเหมาะกว่าในเชิงผลประโยชน์ทางภาษี ซึ่งในกรณีของรถถ้าบริษัทซื้อ จะหักค่าเสื่อมสภาพเป็นค่าใช้จ่ายได้ 5 ปี (ปีละ 20%) ส่วนถ้าเช่า ค่าเช่าก็จะถูกนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งก้อนในปีที่บริษัทเช่ารถ เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องคุยกับฝ่ายบัญชีว่าแบบไหนจะเป็นประโยชน์กับบริษัทในทางภาษีระยะยาว


ประเด็นที่ 2 : ใช้จ่ายให้ถูกหมวดหมู่ เสียภาษีน้อยกว่าเดิม


โดยทั่วไปแล้วค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลจะสามารถนำไปหักภาษีได้ตามจริง แต่ก็มีเทคนิคให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายแบบที่หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปกติ ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา จะสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ถึง 3 เท่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือรัฐทำการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางอ้อม โดยการทำให้บริษัทที่ลงงบประมาณไปตรงส่วนนี้ จะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปกติตอนเสียภาษีนั่นเอง


ประเด็นที่ 3 : ถ้าเข้าเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของรัฐอาจไม่ต้องเสียภาษี


นิติบุคคลบางประเภท ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ถ้าบริษัทเข้าข่ายในหลายเงื่อนไข ดังนั้น การที่เราจะทำให้บริษัทเราเข้าเงื่อนไขให้ครบเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็จะเป็นประโยชน์กับทางบริษัทที่สุด ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Startup ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐกำหนด และเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด คือ ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ปีละไม่เกิน 30 ล้านบาท และได้รับหนังสือรับรองจาก สวทช. ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเป็นเวลา 5 ปี


ประเด็นที่ 4 : ความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจตนเอง


กรมสรรพากรมีการประกาศเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษีนิติบุคคลทุกครั้ง หากสนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้าไปได้ที่ https://rdserver.rd.go.th เรื่องสิทธิประโยชน์ของภาษีจะมีทั้งการยกเว้นภาษี การลดอัตราภาษี การหักค่าใช้จ่ายที่ได้มากกว่าหนึ่งเท่า เช่น ค่าอบรมสัมมนาได้ 2 เท่า การหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในอัตราเร่ง ดังนั้น พื้นฐานของการวางแผนภาษีนิติบุคคลต้องทำไปพร้อมๆ กับความรู้ด้านกฎหมายและนโยบายภาษี


ประเด็นที่ 5 : เปลี่ยนภาษีให้เป็นรายได้ และเปลี่ยนรายจ่ายให้เป็นเงินออม ด้วยการทำประกันบุคคลสำคัญ (KEYMAN LIFE INSURANCE)


เป็นการทำประกันชีวิตให้กับบุคคลสำคัญของบริษัท โดยบุคคลสำคัญเป็นผู้เอาประกัน และบริษัทเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกัน บุคคลที่บริษัททำประกัน Keyman ให้ ต้องอยู่ในตำแหน่งงานที่มีความสำคัญกับบริษัท เช่น กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น โดยสามารถทำประกันชีวิตได้ทุกรูปแบบ คือ แบบชั่วระยะเวลา แบบตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ  

ประโยชน์ทางภาษีของประกัน Keyman

1. เบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทจ่ายแทนบุคคลสำคัญทุกคนเป็นการทั่วไป ตามระเบียบสวัสดิการพนักงานของบริษัท สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายภาษีที่ว่าสวัสดิการพนักงานจะเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ก็ต่อเมื่อเป็นสวัสดิการที่ให้แก่พนักงานทุกคนในระดับเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในระเบียบของกิจการ


2. เบี้ยประกันชีวิตที่บุคคลสำคัญเป็นผู้เอาประกันสามารถนำมาเพื่อใช้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48(1), 47(1)(ง), และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร


3. ผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์

  • กรณีบริษัทเป็นผู้รับประโยชน์ ผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับตามกรมธรรม์ ต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
  • กรณีบุคคลสำคัญเป็นผู้รับประโยชน์ ผลประโยชน์ที่บุคคลสำคัญได้รับตามกรมธรรม์เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร


4. เบี้ยประกันชีวิต ที่บริษัทจ่ายแทนพนักงาน และผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากบริษัท เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใดๆ ที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้แม้ประกัน Keyman จะมีประโยชน์ในการเป็นค่าใช้จ่ายของนิติบุคคล แต่กลับทำให้พนักงานมีภาระต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น

ข้อควรรู้ก่อนทำประกัน Keyman

การบริหารภาษีด้วยประกัน Keyman โดยเฉพาะกรณีบุคคลสำคัญ คือ เจ้าของนิติบุคคล เงินของนิติบุคคลหรือเงินของตนเองจึงเป็นเงินก้อนเดียวกันเพียงแต่อยู่คนละบัญชี ดังนั้นการตัดสินใจทำประกัน Keyman หรือไม่ จึงต้องพิจารณาความคุ้มค่าระหว่างภาษีที่นิติบุคคลประหยัดได้ กับภาษีที่บุคคลสำคัญต้องเสียเพิ่ม ถ้าภาษีที่บุคคลธรรมดาต้องเสียเพิ่มสูงกว่าภาษีที่นิติบุคคลประหยัดได้ ก็ไม่คุ้มที่จะทำ


การพิจารณาจุดคุ้มค่า คือ ถ้าทำประกัน Keyman แล้ว หากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดที่บุคคลสำคัญต้องจ่ายเท่ากับหรือมากกว่า 20% ก็ไม่ควรทำประกัน Keyman เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านภาษีเลย แถมอาจทำให้เสียภาษีเพิ่ม

รูปแบบประกัน KEYMAN PROTECTION

  • คุ้มครองทรัพยากรบุคคลสำคัญของบริษัท (KEYMAN INSURANCE)
  • คุ้มครองหุ้นส่วน (PARTNERSHIP INSURANCE)
  • คุ้มครองความเสี่ยงในการสูญเสียธุรกิจในฐานะเจ้าของกิจการ (BUSINESS INSURANCE) 

การคำนวณภาษีนิติบุคคล


ถ้าอยากรู้ว่าบริษัทจะต้องเสียภาษีเท่าไร ให้คำนวณรายได้ จากนั้นก็นำค่าใช้จ่ายมาลบเพื่อให้ได้กำไร/ขาดทุนทางบัญชี เมื่อได้แล้วต้องนำกำไรขั้นต้นไปปรับปรุงรายการทางภาษีก่อนจึงจะได้กำไรทางภาษี เพื่อนำไปคำนวณตามตารางด้านล่าง โดยภาษีนิติบุคคลแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม SME และ Non SME

สรุป

ความยากของการวางแผนภาษีนิติบุคคลไม่ใช่แค่การหารายจ่ายที่เกิดขึ้นแล้วมาหักค่าใช้จ่ายในบัญชีให้ได้มากที่สุด แต่หมายถึงการวางแผนการใช้จ่ายเงินของบริษัทให้เกิดประโยชน์ทางภาษีสูงสุดตั้งแต่ต้นทาง นี่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารและฝ่ายบัญชีต้องมาคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ การมีระบบบัญชีที่ดี มีการปิดงบกำไรขาดทุนทุกเดือนเพื่อทราบผลการดำเนินงานจริงที่เกิดขึ้นและกำไรที่ได้รับในแต่ละเดือน ก็จะสามารถนำมาคาดการณ์ว่าทั้งปีจะได้กำไรเท่าไหร่และจะได้จัดหาค่าใช้จ่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์มาหักยอดขายให้มีกำไรที่ไม่เกิน 300,000 บาทหรือเสียภาษีให้น้อยที่สุดได้อย่างไร


สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจควรเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ทำเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ไม่เช่นนั้น การประหยัดภาษีอาจจะไม่คุ้มค่ากับการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง